พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีเนื่องในวันที่ระลึกคล้ายวันทิวงคต และบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ” โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชการทหารอากาศ ร่วมในพิธี ซึ่งประกอบด้วย พิธีวางพวงมาลาถวายสักการะฯ และพิธีบำเพ็ญกุศล เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๑ ณ พระอนุสาวรีย์จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ
กองบัญชาการกองทัพอากาศ และห้องรับรองกองทัพอากาศ
จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๔๐ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และลำดับที่ ๔ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ บรมราชชนนี พระพันปีหลวง ประสูติเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๔๒๕ ในพระบรมมหาราชวัง ทรงมีพระนามลำลองว่า “ทูลกระหม่อมเล็ก” หรือ “เล็ก” ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระมารดา ๘ พระองค์ โดยทูลกระหม่อมเล็กทรงเป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และทรงเป็นพระเชษฐาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
ทูลกระหม่อมเล็ก ขณะทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษา เสด็จไปทรงรับการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ จากนั้นทรงเข้ารับการศึกษาต่อ ณ โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก ประเทศรัสเซีย โดยมี พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งประเทศรัสเซีย ทรงอุปถัมภ์ดูแลเสมือนพระญาติวงศ์ใกล้ชิด ทูลกระหม่อมเล็ก ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ทำคะแนนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กจึงจารึกพระนามไว้บนแผ่นศิลาอ่อนของโรงเรียน จากนั้นทรงเข้ารับการศึกษาต่อในโรงเรียนนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ อีกครั้ง นำความพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่งแก่ สมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ และได้ทรงพระกรุณาแต่งตั้งยศทูลกระหม่อมเล็กเป็น นายพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซีย และเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทูลกระหม่อมเล็ก ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์อันเดรย์ ชั้นสายสะพาย ซึ่งเป็นตราสูงสุดของประเทศรัสเซียในสมัยนั้น
เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศรัสเซีย และเสด็จกลับประเทศไทยในปี ๒๔๔๙ พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ อันเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งแก่กองทัพไทยในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รั้งตำแหน่ง เสนาธิการทหารบก ยศนายพลตรี ทรงริเริ่มจัดการงานของกองทัพให้เป็นระเบียบแบบแผนเรียบร้อยอย่างนานาอารยประเทศ ทรงปรับปรุงงานเสนาธิการให้มีวิทยาการกว้างขวางทันสมัย โดยทรงจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เพื่อให้การศึกษาแก่นายทหารที่จะทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ ทรงวางแนวทางหลักสูตรการศึกษาโรงเรียนเสนาธิการ อันต่อยอดมาสู่หลักสูตรเสนาธิการทหารทุกเหล่าทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ
รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ชาวเบลเยี่ยมได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ให้นำเครื่องบินมาทำการบินให้ชาวสยามได้ชม ณ สนามม้าสระปทุม ครั้งนั้น ทูลกระหม่อมเล็ก และกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงผลัดกันประทับบนเครื่องบินที่ทำการแสดง ทูลกระหม่อมเล็กทรงเกิดพระวิสัยทัศน์และทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์ด้านการบินในอนาคต ดังพระดำรัสของพระองค์ตอนหนึ่งที่ว่า “...กำลังในอากาศ เป็นโล่อันแท้จริงอย่างเดียว ที่จะกันมิให้การสงครามมาถึงท่ามกลางประเทศของเราได้ ทั้งยังเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งในการคมนาคมเวลาปกติ...”
ในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก และรั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม จึงมีพระดำริให้เริ่มกิจการบินขึ้นในกองทัพบก และคัดเลือกนายทหาร ๓ นาย ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อนายทหารทั้ง ๓ นายสำเร็จการศึกษา กระทรวงกลาโหมได้สั่งซื้อเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศสไว้ใช้ในราชการ จำนวน ๘ เครื่อง และเริ่มวางรากฐานกิจการบิน ณ สนามม้าสระปทุม ต่อมามีพระดำริให้ย้ายที่ตั้งสนามบินจากที่เดิมมาตั้งอยู่ที่อำเภอดอนเมือง และทรงยกฐานะกิจการบินขึ้นเป็น กองบินทหารบก ในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๕๗ จากนั้นกำลังทางอากาศได้พัฒนาก้าวหน้ามาเป็นลำดับ และยกฐานะขึ้นเป็น “กองทัพอากาศ” เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๘๐
กิจการบินที่ทรงริเริ่มจัดตั้งในวันนั้น พัฒนาสู่การเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน กองทัพอากาศจึงได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติ จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เป็น “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ”
เนื่องในวันที่ระลึกคล้ายวันทิวงคต จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ กองทัพอากาศ ขอน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ และขอสืบสานพระปณิธานแห่ง พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ ในการ สาน เสริม สร้าง พัฒนากองทัพอากาศ ให้เป็นดั่ง “โล่” ที่มีความเข้มแข็ง พร้อมปกปักรักษา ทำนุบำรุง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนตลอดไป